บทที่ 2
ประเภทและสาขาของปรัชญา
1. ประเภทของปรัชญา
โดยทั่วไปมีการแบ่งปรัชญาออกเป็นสองประเภท คือ ปรัชญาบริสุทธิ์ (Pure philosophy) กับปรัชญาประยุกต์ (Applied philosophy) (Mariano, 1990)
1.1 ปรัชญาบริสุทธิ์
หมายถึง การศึกษาปรัชญาที่เป็นเนื้อหาสาระของปรัชญาโดยตรง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการอื่น ๆ ทั้งนี้ โลกตะวันตกแบ่งปรัชญาออกเป็นสามสาขาใหญ่ ๆ (ยึดเนื้อหา/ปัญหาพื้นฐาน เป็นหลัก) โดยการมุ่งตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง (ในขณะที่ ปรัชญาตะวันออก ไม่มีการแบ่งย่อย) ได้แก่
1.1.1 อภิปรัชญา (Metaphysics) อะไรคือความจริง?
1.1.2 ญาณวิทยา (Espistemology) เรารู้ความจริงได้อย่างไร?
1.1.3 คุณวิทยา/อัคฆวิทยา (Axiology) ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า โดยแยกได้สองประเภท คือ
ก. จริยศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินการกระทำว่าดีหรือไม่)
ข. สุนทรียศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินความงาม)
มีการศึกษาโดยแบ่งเป็นยุคต่าง ๆ ขึ้นกับว่าในยุคสมัยนั้น ๆ “ประเด็นร้อน” หรือความสนใจของประชาชนในสมัยนั้น อยู่ที่ปัญหาเรื่องอะไร? (ความจริง ความรู้ คุณค่า) ดังนั้น จึงต้องศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาเพื่อศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ตามหลักเหตุผล” ของแต่ละยุคสมัย (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538)
1.2 ปรัชญาประยุกต์
หมายถึงการนำปรัชญาบริสุทธิ์ไปประยุกต์ใช้ตอบปัญหาโดยยึดการตอบสนองความปรารถนาที่จะรู้ของมนุษย์ ที่ปรารถนารู้ “หลักการ” เพื่อนำไปปฏิบัติ หรือปรารถนาที่จะรู้ “พื้นฐาน” เพื่อนำไปเป็นแนวทางตอบปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ได้แก่
ก. ปรัชญาศาสนา
ข. ปรัชญาสังคมการเมือง
ค. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ง. ปรัชญาการศึกษา
จ. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ฉ. ปรัชญากฎหมาย (นิติปรัชญา)
ช. เป็นต้น
2. สาขาของปรัชญา
ตามแนวปรัชญาตะวันตก แบ่งปรัชญาบริสุทธิ์ได้สามสาขา ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา (อัคฆวิทยา) (สมัคร บุราวาศ, 2544)
2.1. อภิปรัชญา
2.1.1 ความหมายของ “อภิปรัชญา”
ถ้าปรัชญาเป็น “ศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย” อภิปรัชญาก็เปรียบเสมือนพื้นฐาน/หัวใจของปรัชญาทั้งหลาย (Aristotle เรียกอภิปรัชญาว่า Fist Philosophy) เนื่องจาก (Mariano, 1990)
ก. สิ่งที่ “อภิปรัชญา” สนใจคือ Being คืออะไร ในแง่ของความเป็นจริง(Reality) ไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริง (Fact) (จึงมีการใช้คำว่า Meta-physic) ปรัชญาเป็น การสนใจศึกษาความจริงทั้งหมด (All reality) เนื่องจากทุกสิ่งต่างมีอยู่จริง (That is) และสิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีอยู่เหนือขอบเขตของข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (Beyond physics) หรือการศึกษาธรรมชาติ/ลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ หรือความมีอยู่ (Existence) เราจึงเรียกอภิปรัชญาได้ว่า “ภววิทยา” (Ontology)
1) สิ่งที่มีอยู่ (Being) ต้องมีอยู่ (Existence) ตาม ลักษณะ/รูปแบบ (Essence) ของสิ่งนั้น ยกเว้นพระเจ้า ทรงมีอยู่ แต่ไม่มีรูปแบบ เพราะถ้าพระเจ้ามี รูปแบบ/ลักษณะของพระเจ้า พระเจ้าก็ไม่ใช่พระเจ้า เพราะจะทำให้พระเจ้าถูก กำหนดที่จะต้องเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง/รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น พระเจ้าจึงมีแต่ความมีอยู่ แต่ไม่มีสารัตถะของพระเจ้า อภิปรัชญาจึงศึกษาพระเจ้าในฐานะสาเหตุแรกของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่)
2) ดังนั้น เนื้อหาของอภิปรัชญาจึงมี สองมิติ/ด้าน กล่าวคือ
2.1) ด้านที่เหมือนกับปรัชญาแขนงอื่น ๆ (ญาณวิทยาและคุณวิทยา) ในฐานะที่ศึกษาความจริงทั้งหมดที่เป็นอยู่
2.2) ด้านพิเศษ เช่น กรณีของพระเจ้า (Being แบบพิเศษ... ดังที่อธิบายในข้อที่ 1)
ข. อภิปรัชญาทำให้ปรัชญาทั้งหลายเป็น “เอกภาพ” เนื่องจากการอธิบายความจริงตามแนวปรัชญามีหลายคำตอบ แต่อภิปรัชญาเป็นการศึกษา “ความจริงคืออะไร?” แม้คำตอบมีหลากหลาย แต่คำตอบเหล่านั้น มี “ปัญหา/โจทย์เดียวกัน
ค. อภิปรัชญาเป็นศาสตร์แห่งภวันต์ (Being) ในฐานะที่เป็นอย่างนั้น กล่าวคือ ปรัชญาศึกษาภวันต์ในฐานะเป็นภวันต์ (Being as being) ไม่ใช่ศึกษาภวันต์ในฐานะเป็น/เพื่อสิ่งอื่น (Being as/for other) กล่าวคือ ในขณะที่ศาสตร์แต่ละศาสตร์ศึกษา ลักษณะที่แตกต่างของความเป็นจริง เช่น พฤษศาสตร์ ธรณีวิทยา ฯลฯ หรือสนใจลักษณะที่แน่นอนร่วมกันของความเป็นจริง เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกข์ ฯลฯ แต่อภิปรัชญาศึกษา ความเป็นจริงที่เป็นจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เปลือกนอก (ปริมาณภายนอกตาม “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฏ) แต่ปรัชญาสนใจความเป็นจริงที่เป็นจริง ๆ ที่ทำให้สิ่งนั้นเป็น (To Be)
ดังนั้น อภิปรัชญา จึงเป็นการศึกษา ภวันต์/ภาวะ สนใจ “ความหมาย” องค์ประกอบหรือหลักการของสรรพสิ่ง (ที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่)
2.1.2 ชนิดของอภิปรัชญา
แบ่งออกได้สองชนิด ได้แก่
ก. อภิปรัชญาเกี่ยวกับสิ่งมีอยู่ทั่วไป
1) คือ การศึกษาภวันต์ (สิ่งนั้น) (Dantonel, 2004) ในฐานะเป็นภวันต์ (สิ่งนั้น) (Being as being ) หรือศึกษาลักษณะ และองค์ประกอบของภวันต์ ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่
2) หลักการของภวันต์ (ยกเว้น “พระเจ้า”) ได้แก่
2.1) ภวันต์ (Being) = อัตถิภาวะ (Existence) +สารัตถะ (Essence)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีอยู่ตามรูปแบบ/สารัตถะ
ของมัน เช่น มนุษย์มีอยู่ในฐานะที่เป็น
มนุษย์
2.2) ภวันต์ (Being) = สาระ (Substance) + คุณา (Accidents)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องประกอบด้วยแก่นแท้
(สาระของสิ่งนั้น) และส่วนประกอบของ
สิ่งนั้น เช่น มนุษย์ประกอบด้วยความเป็น
มนุษย์และรูปร่างหน้าตาภายนอก
2.3) ภวันต์ (Being) = ภาวะจริง (Act) + ภาวะแฝง (Potency)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีทั้งสภาพที่เป็นอยู่และมี
สภาวะแฝง (ศักยภาพ) ที่จะเป็นได้ในบริบท
ของสิ่งนั้น เช่น นาย ก. ขณะนี้เป็นนักศึกษา
วิทยาลัยแสงธรรม สาขาวิชาปรัชญาและ
ศาสนา ชั้นปีที่ 1 (Act) แต่เขามีสภาวะแฝงที่
จะเป็นบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
2.4) ภวันต์ (Being) = สสาร (Matter) + รูปแบบ (Form)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีทั้งส่วนที่เป็นวัตถุสสาร
และมีรูปแบบของสิ่งนั้น เช่น มนุษย์ ต้องมี
ทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและวิญญาณ เป็นต้น
3) ที่สุด อภิปรัชญาสรุปพื้นฐานภวันต์ได้ 3 อย่างคือ “ความจริง” “ความดี” และ “ความงาม” (สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง + ดี + งาม) (สมัคร บุราวาศ, 2544)
ข. อภิปรัชญาเชิงเทววิทยา
1) คือ การศึกษาพระเจ้า ในฐานะสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ และเป็นสาเหตุแรกของสิ่งต่าง ๆ (หรือเรียกว่าเทววิทยาธรรมชาติ /Natural Theology หรือภาวะที่เกินขอบเขตโลกแห่งผัสสะ/Transcendent) (Mariano, 1990)
2) จากการศึกษาสิ่งมีอยู่ที่เป็นสิ่งทั่วไป ที่มีความจำกัด ทำให้เข้าใจว่าน่าจะมี “ภาวะที่มีอยู่ที่ไม่เป็นสิ่งจำกัด” ในฐานะเป็นความสมบูรณ์ และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัด ซึ่งเป็นหลักการและพื้นฐานของสรรพสิ่ง (ความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า) ดังนั้น ในบางแง่มุมของอภิปรัชญา จึงมีการเรียกอภิปรัชญาว่าเทววิทยาก็ได้ ซึ่งมุ่งสู่การศึกษา อุตรภาพ (Transcendence, ภาวะที่เกินขอบเขตโลกแห่งประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส)
2.1.3 คำตอบจากอภิปรัชญา
จากประวัติปรัชญา เราสามารถแบ่งคำตอบเกี่ยวกับคำถามเชิงอภิปรัชญา กว้าง ๆ ได้ 3 แนว กล่าวคือ
ก. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น จิต (จิตนิยม)
ข. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น สสาร (สสารนิยม)
ค. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น จิตและสสาร (ทวินิยม)
2.2 ญาณวิทยา
2.2.1 ความหมายและที่มาของญาณวิทยา
ญาณวิทยา (Epistemology) หมายถึง การศึกษาปัญหาเรื่องความรู้ พยายามตั้งและตอบคำถามว่า “รู้ความจริงได้อย่างไร?” นำเสนอด้วยทฤษฏีความรู้ โดยก่อนหน้านี้ แฝงตัวอยู่ในอภิปรัชญา (แต่เดิม เนื้อหาของอภิปรัชญา จะครอบคลุมถึงการรู้ (ทฤษฏีความรู้) ความจริงด้วย) การแยกตัวและพัฒนาอย่างชัดเจนของวิธีการได้ความรู้ของวิทยาศาสตร์ ทำให้ทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) แยกแขนงจากอภิปรัชญา เพื่อหาหลักการเกี่ยวกับวิธีการรู้ความจริงของปรัชญาว่าเป็นอย่างไร (กีรติ บุญเจือ, 2522)
2.2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญาและญาณวิทยา
ญาณวิทยามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอภิปรัชญา ในฐานะที่เป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากพื้นฐานที่อภิปรัชญาวางเอาไว้ (ปัญหาเรื่องความเป็นจริง ...ความเป็นจริงคืออะไร) ผลที่ตามมาคือ มนุษย์รู้ความจริงได้อย่างไร เอาอะไรมาตัดสินว่าสิ่งที่มนุษย์รู้นั้น เป็นความจริงหรือไม่ (Mariano, 1990)
ญาณวิทยา
อภิปรัชญา
2.2.3 ปัญหา/โจทย์ของญาณวิทยา
คือ การศึกษาเกี่ยวกับความรู้ว่า “อะไรเป็นมาตรการของความจริง? เอาอะไรมาวัดว่านี่คือความจริง?”
แบ่งกว้าง ๆ ได้ 3 ประเด็น (หลักการแสวงหา หลักการแยกแยะ และหลักการตรวจสอบความรู้) ได้แก่ (Mariano, 1990)
ก. Epistemology หมายถึง หลักในการแสวงหาความรู้ที่ตรงกับความจริงว่าสิ่งที่เรารู้ เป็นความรู้ที่ถูกต้อง/สอดคล้องกับความเป็นจริง (หลักการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง)
ข. Criteriology หมายถึง หลักการแสวงหามาตรการและหลักที่แยกความจริงจากความเท็จ (หลักการแยกแยะความจริง)
ค. Gnoseology หมายถึง หลักการตรวจสอบว่าความรู้นั้น สอดคล้อง
ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่เรารู้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องกับ
ความเป็นจริง (หลักการตรวจสอบความรู้)
2.2.4 เนื้อหา/เป้าหมายของญาณวิทยา
มีหลักการสำคัญ คือ
ก. ความจริงเป็นสิ่งที่เรารู้ได้ นำสู่โจทย์ที่ว่า “รู้ได้อย่างไร?” และเอาอะไรมาตัดสิน/พิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นเท่านั้น (Knowledge # Opinion)
ข. ความรู้ ที่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง” มีลักษณะเป็น (สิ่ง) สากล ซึ่ง
1) ไม่ใช่แค่ผลจากขบวนการทางฟิสกข์หรือจักรกล ที่สนใจเฉพาะสิ่งที่ปรากฎ/พิสูจน์ได้ด้วยการทดลองค้นคว้าระดับประสาทสัมผัส
2) ไม่ใช่แค่ “ความรู้สึก” จากประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็น “ความรู้สำนึก” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ ที่รู้ถึงสิ่งต่าง ๆ (รู้ถึงสิ่งนั้นในฐานะที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น) ไม่ใช่ยึดตัวผู้รู้เป็นเกณฑ์ (รู้เฉพาะสิ่งที่เราอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เพื่อจะเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อตัวเอง แบบวิทยาศาสตร์)
3) แต่เป็นความรู้ใน (สิ่ง) สากล ที่ไม่เปลี่ยนแปลง
2.2.5 ปัญหาของญาณวิทยาคือ การศึกษาเรื่องความจริงกับความเท็จ
ญาณวิทยาพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความเท็จ รวมทั้งเรื่องปัญหา/อุปสรรคที่ทำให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับความจริง
ก. ความจริงและความเท็จ : Truth and False
1) ความจริง คือ ลักษณะที่ตรงกันของความคิด (มโนภาพ) กับสิ่งนั้น (เช่น นี่คือโต๊ะ และสิ่งนั้นเป็นโต๊ะจริง ๆ ไม่ใช่เก้าอี้ หรือตุ๊กตาโดเรมอน) เป็นความสัมพันธ์/สอดคล้องระหว่างความเข้าใจต่อสิ่งนั้น ที่สอดคล้องกับภาวะที่สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ (เช่น นาย ข. มีความเข้าใจว่า คน ๆ นั้น คือ นาย ก. และในความเป็นจริง คน ๆ นั้นเป็นนาย ก. จริงๆ ) ดังนั้น ความจริงจึงเป็นความรู้เข้าใจ (ที่มีต่อสิ่งนั้น) ที่ตรงกับความเป็นจริงที่สิ่งนั้นเป็นจริง ๆ)
2) ความเท็จ คือ ลักษณะที่ไม่ตรงกันระหว่างความคิดเข้าใจ (มโนภาพของสิ่งนั้น) กับสิ่งนั้น (เช่น นาย ข. มีความเข้าใจว่า คน ๆ นั้น คือ นาย ก. แต่ในความเป็นจริง คน ๆ นั้น คือ นาย ค. ไม่ใช่ นาย ก.)
ข. การพิสูจน์ความรู้/ความจริง : Evidence and Certitude
การพิสูจน์ความจริงขึ้นกับหลักการสองอย่าง ได้แก่ (Mariano, 1990)
1) หลักฐาน/ข้อมูลของความจริง (Evidence) กล่าวคือ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งนั้นและมีสิ่ง/สถานการณ์นั้น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น มีการกล่าวว่า “นาย ก. เป็นนักศึกษาชั้นปรัชญาและศาสนา ปีที่ 1 วิทยาลัยแสงธรรม” การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ พิจารณาจากหลักฐาน (ความชัดเจน + สิ่งที่เกิดขึ้นจริง) (ในกรณีการกล่าวว่า นาย ก. เป็นนักศึกษาสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยแสงธรรม) ต้องดูหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1.1) หลักฐานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (Fact/event) หมายถึง การพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
1.2) หลักฐานตามหลักการ หมายถึง การพิจารณาความจริงที่เป็นจริงๆ ของสิ่ง/สถานการณ์นั้นๆ )
2) การตัดสินความจริง (Certitude) หมายถึง การตัดสินหลังจากที่เราได้ศึกษาหลักฐาน/ข้อมูลของความจริง (Evidence) ซึ่งไม่ใช่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความเชื่อหรือทัศนคติ แต่เป็นการยืนยันหรือปฏิเสธในสิ่งที่เราเข้าใจกับหลักฐานที่เราได้พบเห็น
2.2.6 คำตอบจากญาณวิทยา
สืบเนื่องจากคำตอบที่ได้จากอภิปรัชญา ทำให้ญาณวิทยาได้คำตอบเป็นสามแนวกว้างๆ เช่นกัน คือ จิตนิยม สสารนิยมและทวินิยม (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538) กล่าวคือ
ก. เหตุผลนิยม มีแนวคิดว่า ในเมื่อความเป็นจริงคือจิต (วิญญาณ) ดังนั้น การรู้ความจริง ซึ่งมีลักษณะสากล ต้องรู้อาศัยจิต (วิญญาณ) ด้วยการหยั่งรู้ การระลึกได้ และใช้วิธีการแบบนิรนัย (พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด สรุปเป็นหลักการเกี่ยวกับสิ่งนั้น)
ข. ประสบการณ์นิยม มีแนวคิดว่า ในเมื่อความเป็นจริงเป็นวัตถุ/สสาร ดังนั้น การรู้ความจริงจึงต้องอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ผัสสะ) และใช้วิธีการอุปนัย (การค้นคว้าทดลองระดับประสาทสัมผัสบางส่วน และนำไปสรุปว่าทั้งหมดในประเภทเดียวกันจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นพื้นฐานและที่มาของวิธีการทางวิทยาศาสตร์)
ค. ทวินิยม แนวคิดที่ห็นว่า การรู้ความจริง ควรพิจารณาความจริงเป็น สองระดับ คือ สิ่งที่เป็นจริง ๆ กับสิ่งที่ปรากฏ
2.3 คุณวิทยา/อัคฆวิทยา (Axiology)
2.3.1 ความหมายคุณวิทยา/อัคฆวิทยา
หมายถึง การศึกษาเรื่องคุณค่า (กีรติ บุญเจือ, 2522) ซึ่งแยกได้สองประเภท คือ ความดี (จริยะ/จริยศาสตร์) และความงาม (สุนทรียะ/สุนทรียศาสตร์) (Mariano, 1990)
2.3.2 ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา
อภิปรัชญา เป็นพื้นฐานนำสู่ญาณวิทยาและคุณวิทยา กล่าวคือ
ญาณวิทยา คุณวิทยา (จริยศาสตร์ +
สุนทรียศาสตร์)
อภิปรัชญา
เมื่อเราสรุปพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่/ภวันต์ (Being) และนำเสนอได้สามอย่าง กล่าวคือ สิ่งที่มีอยู่ (Being) เป็น ความจริง (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความจริง) ความดี (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความดี) และความงาม (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความงาม) เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของอภิปรัชญา ญาณวิทยา และคุณวิทยา (จริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์) ว่าแต่ละส่วนต่างรับผิดชอบที่จะอธิบายความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ ดังนี้
ปัญหาเกี่ยวกับความจริง (ความหมาย/ความรู้) = อภิปรัชญา/ญาณวิทยา
ปัญหาเกี่ยวกับความดี = จริยศาสตร์
ปัญหาเกี่ยวกับความงาม = สุนทรียศาสตร์
2.3.3 ประเภทของคุณวิทยา/อัคฆวิทยา
แบ่งได้สองประเภท คือ
ก. จริยศาสตร์ (Moral Philosophy/Ethics)
1) ความหมาย
จริยศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำอย่างไรจึงบรรลุความจริง (ความดี) มีหลักเกณฑ์อะไรที่เป็นแนวทางสู่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไปสู่ความจริงได้ (Human Act) เราควรแสวงหาอะไรในชีวิต จุดหมายชีวิตคืออะไร พูดง่ายๆ คือ ทำอย่างไรจึงมุ่งความเป็นจริงนั้น
2) เนื้อหาของจริยศาสตร์
คือ ศึกษาการกระทำของมนุษย์จากมิติด้านศีลธรรม ว่าการกระทำนั้นๆ ทำให้สามารถบรรลุถึงจุดหมายของชีวิต (ความเป็นจริง) ได้หรือไม่ โจทย์คือ อะไรเป็นคุณค่าของความประพฤติ ซึ่งแยกประเภท ได้แก่
2.1) อะไรเป็นการกระทำเฉพาะของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ
(Human Acts)
2.2) ความสัมพันธ์ของการกระทำเฉพาะของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ (Human Acts) ว่าสามารถบรรลุถึงความเป็นจริง/เป้าหมายได้หรือไม่
2.3) เป้าหมายสุดท้ายของการทำแบบมนุษย์ (การกระทำเฉพาะ
ของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ
2.4) มนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ (เลือกการกระทำได้ไหม)
2.5) มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนหรือไม่
3) ประเภทของจริยศาสตร์
3.1) จริยศาสตร์ทั่วไป (General Ethics) หมายถึง การพิจารณาหลักการกระทำของมนุษย์ส่วนบุคคล
3.2) จริยศาสตร์สังคม (Social Ethics) หมายถึง การพิจารณาหลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
4) คำตอบของจริยศาสตร์ (ทฤษฏีการดำเนินชีวิต)
จากพื้นฐานของอภิปรัชญา (ความเป็นจริง มีลักษณะเป็น จิต/ วัตถุ และทั้งสอง) ทำให้จริยศาสตร์มีแนวคำตอบกว้าง ๆ ได้สามแนว คือ
4.1) ศานตินิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญา ที่อธิบายว่า ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจิต ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) คือการทำให้จิตวิญญาณประสบสันติสุข)
4.2) สุขนิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญา ที่อธิบายว่า ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นวัตถุ/สสาร ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) คือการทำให้ชีวิตมีความสุขทางในระดับร่างกาย (วัตถุ)
4.3) มนุษยนิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญาแนวทวินิยม (ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นทั้งจิตและวัตถุ ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) ต้องมีการผสานกลมกลืนระหว่างจิตกับวัตถุ (กายและวิญญาณ)
ข. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)
1) ความหมายและจุดหมาย
สุนทรียศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของความงาม ความคิดเรื่องความงามหรือปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะหรือความงามนั่นเอง (สุเชาว์ พลอยชุม, 2545) จุดหมายของสุนทรียศาสตร์ คือ พยายามยกระดับของการสร้างสรรค์และความสนใจในศิลปะซึ่งเป็นไปตามสัญชาติญาณให้เป็นพฤติกรรมที่เต็มด้วยปัญญา
2) เนื้อหาของสุนทรียศาสตร์
เนื้อหาของสุนทรียศาสตร์ครอบคลุมในเรื่องเกี่ยวกับ
2.1) ความงามคืออะไร
2.2) ประสบการณ์ทางสุนทรียะคืออะไร
2.3) หลักการตัดสินว่าอะไรงาม อะไรไม่งาม
3) คำตอบจากสุนทรียศาสตร์ (ทฤษฏีความงาม)
แบ่งคำตอบกว้างๆ ได้แก่
3.1 ความงามขึ้นกับแต่ละคน
3.2 ความงามขึ้นกับวัตถุ
3.3 ความงามขึ้นกับทั้งแต่ละบุคคลและวัตถุ
3.4 ความงาม คือ ความแปลกใหม่
3. สรุปประจำบท
แม้ปรัชญาจะแบ่งย่อยได้สองประเภทคือ ปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์ โดยปรัชญาบริสุทธิ์ แบ่งได้สามสาขา/แขนง คือ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา/อัคฆวิทยา ล้วนแต่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันในการหาคำตอบเกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของปรัชญา กล่าวคือ ก่อนที่เราจะไปศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร เราต้องรู้ความจริงก่อนว่า ความจริงของสิ่งนั้น คืออะไร (อภิปรัชญา) เมื่อเรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพื่อว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงหรือไม่ เราย่อมต้องมีวิธีการ และหลักการรับรู้และตัดสินสิ่งที่เรารับรู้นั้น ๆ (ญาณวิทยา) และที่สุด เรามีการนำหลักการของสิ่งนั้นไปตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ (คุณวิทยา)
วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)